วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บทที่ 6

สื่อทัศนวัสดุประเภทฉาย


เครื่องฉายเป็นอุปกรณ์สำหรับฉายภาพหรือวัสดุ ที่มีขนาดเล็กให้ปรากฏบนจอเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้กลุ่มผู้ชมที่มีขนาดต่างๆกัน สามารถมองเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงกัน หลักการโดยทั่วไปของเครื่องฉาย คือ การทำให้เกิดภาพโดยอาศัยแหล่งกำเนิดแสงหรือหลอดฉาย เพื่อให้แสงสว่างแก่วัสดุที่นำมาฉายและมีเลนส์ฉายเป็นตัวกลางทำให้เกิดภาพไปปรากฏบนจอ

องค์ประกอบของการฉาย

การฉายมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 องค์ประกอบ คือ เครื่องฉาย จอฉาย วัสดุฉาย และการควบคุมสภาพการฉาย รายละเอียดดังนี้

1. เครื่องฉาย(Projector)
เครื่องฉาย เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำให้เกิดแสงสว่างและเกิดภาพปรากฎขึ้นบนจอฉาย ประกอบด้วยส่วนที่เป็นตัวเครื่องทำด้วยโลหะ มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันตามประเภทของเครื่องฉาย มีปุ่มควบคุมการทำงานและส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
1.1 หลอดฉาย(projector Bulb) เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง เป็นหลอดที่ให้แสงสว่างแก่วัสดุฉายเพื่อให้ปรากฏภาพขึ้นบนจอภาพ โดยทั่วไปนิยมใช้หลอดฮาโลเจน มีกำลังส่องสว่างประมาณ 150-1,000 วัตต์
1.2 เลนส์ควบแสง(Condenser Lenes) เป็นชุดเลนส์นูนซึ่งอาจมีเลนส์ 2 แผ่นหรือมากกว่าประกอบอยู่ในเครื่องฉาย โดยจะจัดไว้ในตำแหน่งที่พอดีให้ขนาดของลำแสงมีพื้นที่ภาคตัดขวางเท่ากับพื้นที่ของวัสดุฉาย เลนส์ควบแสงจะทำหน้าที่รวมแสงให้มีความเข็มมากขึ้นและอยู่ภายในบริเวณเฉพาะเนื้อที่ภาพบนวัสดุ เพื่อให้ภาพที่ปรากฏบนจอภาพมีความเข็มชัดเจนเท่ากันทุกจุด ในเครื่องฉายบางประเภทจะมีแผ่นกรองความร้อนระหว่างเลนส์ควบแสงและหลอดฉายไว้ด้วยเพื่อป้องกันความร้อนจากหลอดฉายมิให้แผ่มายังเลนส์มากเกินไปจนทำให้เลนส์เสื่อมสภาพเร็ว
1.3 เลนส์ฉาย(Projection Lenses) เลนส์ที่สำคัญที่สุดในระบบเครื่องฉาย คือ เลนส์ออปเจ๊กทีฟ(Objective Lenses) ซึ่งจะอยู่ระหว่างวัสดุฉายและจอเสมอ เลนส์ฉายเป็นเลนส์นูนซึ่งอาจมีอยู่เพียงแผ่นเดียวหรือหลายแผ่นก็ได้เช่นเดียวกับเลนส์ควบแสง เลนส์นี้ทำหน้าที่ในการฉายให้ภาพที่ปรากฏบนจอภาพมีขนาดใหญ่คมชัดในลักษณะหัวกลับจากภาพที่อยู่บนวัสดุฉาย หากภาพที่ปรากฏไม่ชัดเจนเท่าที่ควรเราสามารถปรับเลนส์ฉายนี้เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนตามต้องการโดยการปรับปุ่มโฟกัสที่เครื่องฉาย
1.4 แผ่นสะท้อนแสง(Reflector) เป็นวัสดุที่มีลักษณะเว้าทำด้วยกระจกฉาบด้วยเงินหรือปรอทเพื่อช่วยในการสะท้อนแสงจากหลอดฉายให้ไปในทิศทางเดียวกันและเพื่อความเข็มของแสง แผ่นสะท้อนแสงนี้จะอยู่ในด้านตรงข้ามกับเลนส์ควบแสงโดยมีหลอดฉายอยู่ระหว่างกลางเพื่อช่วยให้ภาพที่ปรากฏบนจอภาพมีความชัดเจนมากขึ้น
1.5 พัดลม(Electric Fan) ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนจากหลอดฉาย เนื่องจากหลอดฉายมีกำลังแสงสว่างสูงมากจึงทำให้เกิดความร้อนสูงภายในเครื่อง โดยเฉพาะหลอดฉายพัดลมจึงช่วยระบายความร้อนเพื่อลดความร้อนได้และรักษาอายุการใช้งานของหลอดให้ใช้ได้นานๆได้

2. จอฉายหรือฉากรับภาพ(Projection screen)
จอฉายหรือฉากรับภาพ ทำหน้าที่รับภาพจากเครื่องฉายแล้วสะท้อนแสงกลับมายังผู้ชม จอที่มีคุณภาพดีจะได้ภาพที่ชัดเจน จอมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกัน คือ ให้ภาพในมุมกว้าง ให้ภาพในมุมแคบ ใช้ฉายจากข้างหลัง และบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษสามารถฉายในที่มีแสงสว่างมากๆได้ เรียกว่า จอฉายกลางวัน(Daylight screens) การเลือกจอแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการฉาย และปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะและขนาดของห้อง ความสะดวกในการติดตั้ง การปรับปรุงแสงสว่างของห้องฉาย เป็นต้น จอแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
2.1 จอแบบทึบแสง(Opaque Type) มีลักษณะและคุณสมบัติต่างๆดังนี้
2.1.1 จอแก้ว(Beaded Screen) เหมาะสำหรับใช้ในห้องเรียน เพราะพื้นผิวจอสะท้อนแสงได้ดีประกอบด้วยเม็ดแก้วละเอียดเพื่อให้พื้นผิวสะท้อนแสงเมื่อฉายภาพ จอชนิดนี้จะได้ในมุมแคบ เหมาะสำหรับใช้ในห้องที่แคบยาว ไม่เหมาะที่จะใช้ในห้องกว้างๆที่มีแถวของผู้ชมทางซ้ายและขวาเกิน 25 องศา จากกึ่งกลางของจอ
2.1.2 จอเกลี้ยง(Matte Screen) ผิวหน้าขาวเรียบ พื้นผิวจะสะท้อนแสงได้น้อยกว่าจอแก้ว เหมาะสำหรับใช้ในห้องกว้างๆผู้ดูจะดูได้ในมุมกว้างกว่าจอแก้ว เช่น ในห้องเรียนที่กว้างหรือห้องประชุม
2.1.3 จออลูมิเนียมหรือจอเงิน(Aluminium or Silver Screen) ระยะเริ่มแรกใช้จอนี้ฉายภาพยนตร์ ปัจจุบันใช้สำหรับฉายภาพสเตอริโอ ภาพมิติ สไลด์ และภาพยนตร์สี
2.1.4 จอแบบเลนติคูลา(Lenticular screen) พื้นผิวเป็นร่องและมีสันนูนเพื่อช่วยในการกระจายแสง เหมาะสำหรับฉายภาพสีและห้องที่มีแสงสว่าง
2.2 จอแบบแสงผ่านได้ มีลักษณะและคุณสมบัติต่างๆกันดังนี้
2.2.1 จอโปร่งแสง(Translucent screen) ทำจากวัสดุโปร่งแสง เครื่องฉายอยู่ด้านหลังฉายผ่านจอ ผู้ชมอยู่ทางหน้าจอ จอแบบนี้ไม้เหมาะที่จะใช้ในห้องเรียน ส่วนใหญ่จะใช้ในการจัดนิทรรศการ เช่น แสดงผลงานทางด้านอุตสาหกรรมโดยที่ภาพฉายมาทางด้านหลัง ห้องที่ฉายไม่จำเป็นต้องมือมาก จอแบบนี้มีขนาดเล็กเหมาะกับผู้ชมจำนวนจำกัด
2.2.2 จอพลาสติก(Plastic Screen) เป็นจอที่ต้องตั้งเครื่องฉายทางด้านหลังคล้ายกับแบบโปร่งแสง เหมาะที่จะใช้กับห้องที่มีแสงสว่าง
2.3 การติดตั้งจอฉาย
การติดตั้งจอจะวางไว้ทางด้านหน้าของห้องฉาย หรือหน้าชั้นเรียน แต่จะต้องไม่ให้ตรงกับทิศทางที่แสงสว่างจากภายนอกมาถูกจอได้ เพราะจะเกิดการสะท้อนทำให้ภาพที่ปรากฏบนจอไม่ดี ส่วนความสูงของจอจากพื้นนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ การติดตั้งจอแบบต่างๆมีดังนี้
3.1 แบบขาตั้ง(Tripod or Portable) เป็นจอที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
3.2 แบบติดผนัง(Spring Loaded Wall Sreen) จะติดตั้งกับผนังห้องเมื่อต้องการ
ใช้ดึงจอให้กางออกและยึดติดกับหมุดยึด เมื่อเลิกใช้ถอดออกจากหมุดยึดสปริงจะดึงกลับม้วนเข้าที่เดิม
3.3 แบบติดเพดาน(Pulley and Cord Type Ceiling Mounting) จอจะยึดติดเพดานโดยมีเชือกดึงให้จอกางออกแล้วม้วนกลับได้
3.4 แบบกล่อง(Protable Box Screen) จอจะอยู่ในกล่องกางออกโดยใช้แขนยึด
3.5 แบบปรับได้(Tilting Screen) มีแขนยึด สามารถปรับตำแหน่งจอได้ติดบนขาตั้งหรือกับผนัง

3. วัสดุฉาย
วัสดุฉาย(Orojection Materials) เป็นวัสดุที่นำมาใช้กับเครื่องฉาย มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับนำมาใช้กับเครื่องฉายแต่ละประเภท แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1. วัสดุโปร่งใส (Transparent) คือวัสดุฉายที่ยอมให้แสงผ่านทะลุได้โดยตลอด ได้แก่ แผ่นภาพโปร่งใส เป็นต้น
2. วัสดุโปร่งแสง (Translucent) คือวัสดุฉายที่ยอมให้แสงผ่านทะลุได้บ้าง ตามความหนาบางของสี หรือสารที่เคลือบอยู่บนวัสดุที่นำมาฉายนั้น ได้แก่ ฟิล์มสตริป แผ่นสไลด์ และฟิล์ม ภาพยนตร์ เป็นต้น
3. วัสดุทึบแสง (Opaque) คือวัสดุฉายที่ไม่ยอมให้แสงผ่านทะลุไปได้เลย ได้แก่ วัสดุที่เป็นของจริง หรือวัสดุ 3 มิติ ต่าง ๆ และรูปภาพทุกประเภท

4. การควบคุมสภาพการฉาย(Projection Condition)
การควบคุมสภาพการฉายให้มีความเหมาะสม มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
4.1 การติดตั้งเครื่องฉาย จอฉายควรให้มีความสัมพันธ์กัน โดยให้แนวลำแสงจาก
เครื่องฉายตั้งฉากกับผิวหน้าของจอฉายเสมอ เพื่อให้ได้ภาพที่มีสัดส่วนถูกต้อง ทั้งนี้โดยปกติมักเกิดปัญหาที่เรียกว่า “Keystone Effect” คือ ผลที่เกิดขึ้นจากแนวลำแสงไม่ตั้งฉากกับผิวหน้าของจอฉาย ทำให้ภาพที่ปรากฏบนจอมีลักษณะผิดสัดส่วน เช่น ด้านบนใหญ่กว่าด้านล่าง ด้ายซ้ายใหญ่กว่าด้านขวา เป็นต้น
4.2 การจัดที่นั่ง ควรจัดที่นั่งให้ผู้ชมมองเห็นภาพบนจอได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ผู้ชมแถวหน้าควรนั่งเป็นระยะทาง 2 เท่าของความกว้างของจอฉาย และผู้ชมแถวหลังสุดควรนั่งห่างไม่เกินระยะทาง 6 เท่า ขอความกว้างของจอฉาย ส่วนมุมในการชมภาพขึ้นอยู่กับชนิดของจอที่ใช้ฉาย และควรจัดที่นั่งให้ลดหลั่นกันหรือไม่ให้บังกัน
4.3 การควบคุมแสงสว่าง ขึ้นอยู่กับชนิดของจอฉายประเภทของเครื่องฉายและระยะทางในการชม
นอกจากนี้ การควบคุมสภาพการฉายยังต้องคำนึงถึง การควบคุมระบบเสียงให้มีคุณภาพ การควบคุมระบบระบายอากาศให้มีความเหมาะสม รวมถึงระบบไฟฟ้าจะต้องมีความปลอดภัยอีกด้วย

แผ่นภาพโปร่งใส (Transparencies)

แผ่นภาพโปร่งใส เป็นวัสดุฉายโปร่งใสชนิดหนึ่งที่ยอมให้แสงผ่านทะลุได้ตลอด ทำจากแผ่นฟิล์มใส แผ่นอาซีเตทใส หรือพลาสติกใส ภายในบรรจุเนื้อหาสาระในรูปแบบของภาพ สัญลักษณ์ ตัวอักษรหรือข้อความเพื่อการนำเสนอหรือถ่ายทอดไปสู่ผู้รับ โดยผ่านทางเครื่องฉาย


1. ขนาดของแผ่นโปร่งใสมีหลายขนาด
ตั้งแต่ 7x7 นิ้ว 10 x 10 นิ้ว และขนาดที่นิยมกันมากคือ 7 ½ x 9 ½ นิ้ว สำหรับปากกาที่ใช้เขียนแผ่นภาพโปร่งใสนั้นต้องเป็นปากกาที่ระบุว่า ใช้สำหรับเขียนแผ่นภาพโปร่งใส (For overheard Projection) โดยเฉพาะ มี 2 ชนิด คือ
1.1 ชนิดเขียนเพื่อใช้ชั่วคราว (Non permanent or Water soluble) เป็นปากกาที่เขียนแล้วลบออกได้ด้วยน้ำ
1.2 ชนิดเขียนเพื่อใช้อย่างถาวร (Permanent or Waterproof) เป็นปากกาที่เขียนแล้วไม่สามารถลบออกได้ด้วยน้ำ ต้องใช้แอลกอฮอล์ลบ

2. วิธีการผลิตแผ่นภาพโปร่งใส
การผลิตแผ่นภาพโปร่งใสมีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการที่นิยมในปัจจุบันและสามารถผลิตได้เองโดยไม่ยุ่งยาก ดังนี้
2.1 เขียนและตกแต่งด้วยมือ วิธีนี้ผู้ที่มีลายมือสวย และมีฝีมือทางด้านศิลปะการออกแบบ ค่อนข้างจะได้เปรียบ เพราะข้อความที่เขียนบนแผ่นโปร่งใส นอกจากจะสรุปให้สั้นแล้ว ยังต้องมีความสวยงามและสามารถดึงดูดความสนใจพร้อมกันไปด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ลายมือไม่สวยปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ช่วยมากมาย เช่น ชุดไม้บรรทัดแบบตัวอักษร และลีรอยด์ อักษรรูปลอก ไม้บรรทัดเจาะรู เป็นต้น
2.2 ผลิตด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร วิธีนี้เพียงแค่เราจัดทำต้นฉบับหรือทำข้อความ ภาพ จากหนังสือต่าง ๆ แล้วใช้แผ่นโปร่งใสที่ระบุว่าใช้ถ่ายได้กับเครื่องถ่ายเอกสาร ไปถ่ายเอกสารแทนกระดาษก็จะได้แผ่นโปร่งใสที่เป็นภาพขาวดำ และสามารถนำปากกาเขียนแผ่นโปร่งใสมาตกแต่งสีให้สวยงามได้
2.3 ผลิตด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันคอมพิวเตอร์มีใช้แทบทุกสำนักงาน เราสามารถใช้โปรแกรมกราฟิกต่าง ๆ ออกแบบภาพและตัวอักษร เสร็จแล้วสั่งพิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ ถ้าต้องการให้มีสีเหมือนในจอคอมพิวเตอร์ ก็ใช้แผ่นโปร่งใสชนิดใช้กับเครื่องพิมพ์ชนิดหมึกพ่น (Ink Jet) แต่ราคาของแผ่นโปร่งใสและหมึกพิมพ์ค่อนข้างแพง ถ้าต้องการให้ประหยัดก็ใช้แผ่นโปร่งใสชนิดถ่ายเอกสาร แล้วพิมพ์กับเครื่องพิมพ์เลเซอร์แล้วค่อยมาตกแต่งสีภายหลัง

3. ลักษณะของภาพโปร่งใสที่ดี แผ่นภาพโปร่งใสที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
3.1 การจัดภาพและข้อความ ควรบรรจุในเนื้อที่ประมาณไม่เกิน 8x9 นิ้ว จะวางภาพตามแนวนอนหรือแนวตั้งขึ้นอยู่กับการจัดภาพให้ดูสวยงาม ไม่แน่นจนเกินไป ข้อความสำคัญควรวางไว้ในระดับกึ่งกลาง ค่อนไปทางข้างบนภาพ
3.2 ขนาดตัวอักษร ควรโตพอสมควร และเว้นช่องไฟห่างกว่าการเขียนแบบธรรมดา ชื่อเรื่องควรโตกว่า 5 มม. และข้อความควรโตกว่า 4 มม. ความหนาตัวอักษรควรประมาณ 0.4 มม.
3.3 จำนวนบรรทัดใน 1 แผ่น ไม่ควรเกิน 8 บรรทัด และเว้นระยะห่างระหว่างบรรทัดให้เห็นได้ชัดเจน เมื่อฉายภาพบนจอ ควรใช้เทคนิคการบังภาพ (Revelation) ช่วย
3.4 ใช้สีเฉพาะบริเวณที่ต้องการเน้นความสำคัญ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ดู และเพิ่มความสวยงาม
3.5 ภาพที่แสดงควรมีรายละเอียดที่ต้องการ ไม่ยุ่งเหยิง ซับซ้อน หรือมีเส้นสับสน ควรเป็นภาพที่เมื่อมองดูแล้วเข้าใจง่าย และเข้าใจได้ทันที
3.6 ควรนำเสนอภาพเป็นลายเส้น เป็นสัญลักษณ์ หรือข้อความที่สั้น ๆ กะทัดรัด และได้ใจความ
3.7 ในหนึ่งแผ่น ควรมีจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว หรือเป็นการเปรียบเทียบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
3.8 ไม่ควรจัดภาพและตัวอักษรแน่นจนเกินไป

แผ่นสไลด์

สไลด์ คือวัสดุฉายโปร่งแสงชนิดหนึ่ง ที่ทำได้โดยการถ่ายภาพลงบนฟิล์มถ่ายภาพชนิด Positive ซึ่งมีขนาดและรูปแบบต่าง ๆ กัน หรืออาจเขียนหรือวาดลงบนแผ่นกระจกก็ได้ นำเสนอโดยการฉายด้วยเครื่องฉายสไลด์ให้ปรากฏเป็นภาพขึ้นบนจอ

1. แผ่นสไลด์
แผ่นสไลด์ขนาดที่นิยมใช้เพื่อการเรียนการสอนมากที่สุดคือ สไลด์ขนาด 2x2 นิ้ว ซึ่งยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นขนาดมาตรฐาน สไลด์ขนาดที่ทำมาจากฟิล์มขนาด 35 มม. (หรือฟิล์มเบอร์ 135) เมื่อถ่ายแล้วนำไปล้างจะได้ภาพปรากฏในฟิล์มมีสีสรรสวยงาม ตรงตามความเป็นจริง หลังจากนั้นจะตัดฟิล์มเป็นภาพ ๆ นำไปใส่กรอบกระดาษหรือพลาสติก ซึ่งขนาดกว้างและยาวรอบนอกของกรอบมีขนาด 2x2 นิ้ว
2. การผลิตแผ่นสไลด์
การผลิตแผ่นสไลด์ หรือการถ่ายภาพสไลด์ก็เหมือนกับการถ่ายภาพทั่วไป สามารถผลิตได้ด้วยอุปกรณ์และวิธีการหลายอย่าง เช่น การผลิตด้วยกล้องถ่ายภาพ การผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ และการผลิตจากวีดิทัศน์ รายละเอียดดังนี้
2.1 การผลิตด้วยกล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายภาพนอกจากจะแตกต่างกันในแง่คุณสมบัติองค์ประกอบ การทำงาน และภาพที่ได้จากการถ่ายแล้วยังแตกต่างกันในด้านราคาและสนองตอบต่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันอีกด้วย กล้องถ่ายรูปมีหลายประเภท แต่จะขอกล่าวถึง เฉพาะที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป ดังนี้
2.1.1 กล้องคอมแพค 35 มม. กล้องประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากมีด้วยกันหลายรุ่น มีตั้งแต่ราคาไม่แพงมาก จนถึงรุ่นที่คุณภาพสูง มีเลนส์ซูมที่ดี และมีระบบถ่ายภาพต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย ถ้าพูดถึงขนาด ก็มีให้เลือกตั้งแต่ขนาดเล็กมาก จนถึงรุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีบางรุ่นที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากพัฒนาการและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

ภาพที่ 6.4 กล้องคอมแพค 35 มม.
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 87)

จุดเด่นของกล้องคอมแพค หรือจะเรียกว่ากล้องพกง่ายถ่ายสะดวกก็คือ เป็นกล้องที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกจะใส่กระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋าถือก็ได้และสามารถใช้งานได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ กล้องคอมแพคจะมีระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งไม่ต้องอาศัยการปรับตั้งที่ยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นการตั้งความเร็วชัตเตอร์ หรือการปรับขนาดรูรับแสง กล้องประเภทที่มีระยะชัดคงที่และประเภทปรับระยะชัดอัตโนมัติจะเป็นกล้องที่ใช้ง่ายที่สุดในการถ่ายภาพโดยไม่เกิดการผิดพลาด กล้องคอมแพคในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นระบบอัตโนมัติตั้งแต่การบรรจุฟิล์ม การขับเคลื่อนฟิล์มที่ถ่ายแล้ว รวมทั้งการกรอฟิล์มกลับเข้ากลักฟิล์มเมื่อถ่ายภาพหมด นอกจากนี้กล้องที่ปรากฎในตลาดปัจจุบันส่วนใหญ่ยังติดตั้งระบบแฟลชมาพร้อมกล้องซึ่งอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย เช่น ในห้อง หรือในเวลากลางคืน กล้องคอมแพคมีระดับคุณภาพต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย วิธีที่จะทำให้ถ่ายภาพได้ดี ก็คือเลือกกล้องที่ได้พิจารณาแล้วว่า ง่ายที่สุดในการใช้งาน
2.1.2 กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว 35 มม (35 mm. SLR Cameras) SLR คือ
ชื่อย่อของเลนส์สะท้อนชนิดเดี่ยว ภาพที่ผ่านเลนส์จะสะท้อนกับกระจกภายในกล้องถ่ายภาพเข้าไปยังช่องมองภาพ โดยทั่วไปแล้วกล้อง SLR จัดอยู่ในกล้องระดับสูงซึ่งมืออาชีพนิยมใช้กัน

ภาพที่ 6.5 กล้องสะท้อนภาพเลนเดี่ยว 35 มม.
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 87)
กล้อง SLR ที่ปรากฏในท้องตลาดปัจจุบันแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ประเภทปรับระยะชัดด้วยมือ (ปรับตั้งเอง) และประเภทปรับระยะชัดอัตโนมัติ ลักษณะเด่นของกล้องประเภทนี้คือ สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ดังนั้นจึงมีเลนส์ให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมนานาชนิด เช่น เลนส์ตาปลา เลนส์มุมกว้างพิเศษ เลนส์มาตราฐาน เลนส์ถ่ายใกล้ จนถึงเลนส์ถ่ายไกลพิเศษ นอกจากนี้ยังมีเลนส์ซูมซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ไกลพิเศษอีกหลายชนิด ลักษณะเด่นประการต่อมาของกล้อง SLR คือ ระบบปริซึมสะท้อนภาพในช่องมองภาพ ซึ่งสะท้อนภาพจากเลนส์ตรงมายังช่องมองภาพโดยตรง ช่วยทำให้การถ่ายภาพไม่ผิดเพี้ยน ลักษณะเด่นประการที่สามของกล้องSLR คือประกอบไปด้วยระบบถ่ายภาพต่าง ๆ นานาชนิด เช่น ระบบดักระยะชัดล่วงหน้า ระบบถ่ายภาพสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกคือการที่สามารถใช้อุปกรณ์เสริมอีกนานับชนิด รวมถึงการทำงานด้วยแฟลชกำลังสูง แว่นกรองแสง อุปกรณ์ถ่ายภาพระยะใกล้ และอื่น ๆ ตามที่ช่างภาพต้องการ
2.1.3 กล้องดิจิตอล ปัจจุบันเทคโนโลยีการถ่ายภาพพัฒนาไปไกลมาก เราสามารถถ่ายภาพโดยไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่ต้องเสียเวลาล้างฟิล์ม เพียงถ่ายภาพแล้วบันทึกไว้ในหน่วยความจำของกล้องหรือแผ่นดิสก์ แล้วนำไปเปิดดูภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้ทันทีและยังสามารถแก้ไขตกแต่งภาพ พิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ หรือสำเนาแจกจ่ายให้กับคนอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย



ภาพที่ 6.6 กล้องดิจิตอล
ที่มา (รัฐกรณ์ คิดการ, 2543, หน้า 88)

เราสามารถนำภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลมาใช้ประโยชน์อย่างมากมาย เช่น การนำภาพมาประกอบเข้ากับเอกสาร รายงานต่าง ๆ การนำเสนอผลงาน (Presentation) การผลิตสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) งานในรูปแบบมัลติมีเดีย การสร้าง โฮมเพจ (Home Page) งานเหล่า นี้นับว่าเป็นงานที่เหมาะกับกล้องดิจิตอลเป็นอย่างมาก
2.2 การผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยหลายตัวให้เลือกใช้ ผู้ใช้สามารถผลิตภาพถ่ายหรือภาพกราฟิกออกมาในรูปแบบของสไลด์ได้ โดยภาพที่จะทำสไลด์อาจได้มาจากการนำภาพถ่ายมากราดภาพลงในคอมพิวเตอร์ด้วยเครื่องกราดภาพ(Scanner) หรืออาจเป็นภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลและต่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรืออาจเป็นภาพที่ได้จากการวาดด้วยโปรแกรมวาดภาพก็ได้เช่นกัน สไลด์ที่ผลิตด้วยคอมพิวเตอร์จะมีความคมชัดสูงเช่นเดียวกับสไลด์ที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ อีกทั้งยังสามารถผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเมื่อจัดรูปแบบสไลด์แล้วจะใช้เครื่องผลิตเป็นฟิล์มสไลด์ ออกมาแทนการใช้เครื่องธรรมดา
2.3 ผลิตจากวีดิทัศน์ เป็นอุปกรณ์สำหรับพิมพ์ภาพถ่ายหรือสไลด์จากเครื่องเล่น วีดิทัศน์ กล้องวีดิทัศน์ เครื่องเล่นวีดิโอดิสก์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์กราฟิก โดยเรียกอุปกรณ์นี้ว่า “Freeze Frame Video Image Recorder” หรือเรียกสั้นๆว่า เครื่อง “Freeze Frame” โดยการเสียบอุปกรณ์นี้เข้ากับเครื่องเล่นที่ต้องการพิมพ์ภาพถ่ายหรือสไลด์แล้วพิมพ์ออกมาได้ทันที นับว่าเป็นการผลิตสไลด์ที่สะดวกและรวดเร็วอย่างยิ่งโดยผลิตจากภาพเคลื่อนไหวทีละภาพ แต่การผลิตด้วยวิธีนี้ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูงกว่าการผลิตแบบธรรมดาทั่วไปอย่างมาก



ฟิล์มสตริป

ฟิล์มสตริปเป็นวัสดุฉายโปร่งแสงชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นม้วน ทำได้โดยการถ่ายภาพลงฟิล์มสำหรับถ่ายภาพชนิด Positive Film ขนาด 35 มม. มีทั้งฟิล์มขาวดำ และฟิล์มสีเช่นเดียวกับฟิล์มที่ใช้ถ่ายทำสไลด์แต่ต้องถ่ายภาพเรียงเรื่องราวให้ต่อเนื่องกันตามลำดับ ตั้งแต่หัวเรื่องจนกระทั่งถึงภาพสุดท้าย เมื่อล้างฟิล์มแล้วไม่ต้องตัดฟิล์มออกเป็นภาพ ๆ ปล่อยไว้เป็นม้วนยาว ๆ ม้วนหนึ่งอาจมี 20 ภาพ ถึง 72 ภาพ

ภาพที่ 6.8 ขนาดของฟิล์มสตริป
ที่มา (Heinich,Molenda,&Russell, 1993, p.188)

ฟิล์มสตริปแบ่งได้เป็น 2 แบบ ตามขนาดของภาพ ดังนี้
1. แบบกรอบภาพเดี่ยวหรือแบบครึ่งกรอบภาพ (Single frame or Half frame) เป็นฟิล์มสตริปที่ถ่ายทำด้วยกล้องถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์ม 35 มิลลิเมตร แบบแบ่งครึ่งกรอบภาพ ซึ่งจะได้ขนาดเนื้อที่ภายในภาพเท่ากับ ¾ x1 นิ้ว และเป็นแบบที่นิยมใช้มากกว่าอีกแบบหนึ่ง การฉายต้องฉายตามแนวดิ่งหรือแนวตั้ง
2. แบบกรอบภาพคู่หรือแบบเต็มกรอบภาพ (Double frame or Full frame) เป็นฟิล์มสตริปที่ถ่ายทำด้วยกล้องถ่ายภาพที่ใช้ฟิล์ม 35 มิลลิเมตรเช่นเดียวกัน แต่เป็นกล้องแบบไม่แบ่งครึ่งกรอบภาพ ซึ่งจะได้ขนาดเนื้อที่ภายในภาพเท่ากับ 1 x 1 ½ นิ้ว แบบนี้ไม่นิยมใช้ เพราะได้จำนวนภาพน้อย ได้เพียง 36-40 ภาพเท่านั้น การฉายต้องฉายตามแนวระนาบหรือแนวนอน



ฟิล์มภาพยนตร์ (Motive Films)

ฟิล์มภาพยนตร์ คือ วัสดุฉายประเภทโปร่งแสง ลักษณะเป็นภาพชุดหรืออนุกรมของภาพนิ่งที่เรียงติดต่อกันบนแถบอาซีเตท หรือแถบพลาสติกบางยาว ๆ ซึ่งเกิดจากการถ่ายทำด้วยกล้องภาพยนตร์ เมื่อนำมาฉายด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์ ก็จะปรากฏเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้บนจอ
ภาพยนตร์

ภาพที่ 6.9 แสดงการเกิดภาพเคลื่อนไหวของภาพยนตร์
ที่มา (Heinich,Molenda,&Russell, 1993, p.186)

1. ประเภทของฟิล์มภาพยนตร์
1.1 แบ่งตามลักษณะของสี มี 2 ประเภท คือ
1.1.1 ภาพยนตร์ขาว – ดำ (Black and white film) เป็นภาพยนตร์ยุคแรก ๆ มีเพียง ขาว– ดำ เท่านั้น ต่อมามีการย้อมฟิล์มขาวดำให้เป็นสีต่าง ๆ เช่น สีซีเปีย (Sepia) สีทองแดง (Copper red) สีน้ำเงิน (Blue) เพื่อให้ดูน่าสนใจขึ้น แต่ก็ยังเป็นฟิล์มขาว – ดำ นั่นเอง
1.1.2 ภาพยนตร์สี (Color film) มีขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
1.2 แบ่งตามเสียงที่ปรากฏ มี 2 ประเภท คือ
1.2.1 ภาพยนตร์เงียบ (Silent film)
1.2.2 ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม (Sound film)
1.3 แบ่งตามมิติของภาพในฟิล์ม 2 ประเภท คือ
1.3.1 ภาพยนตร์ 2 มิติ (Two-dimention)
1.3.2 ภาพยนตร์ 3 มิติ (Three-dimention)
1.4 แบ่งตามขนาดของฟิล์ม อาจแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1.4.1 ภาพยนตร์ 8 มม. และ 8 มม. พิเศษ (8 mm. And Super 8 mm. Film)เป็นภาพยนตร์ระดับครอบครัว ใช้บันทึกเหตุการณ์ที่ประทับใจ และนำมาใช้เป็นภาพยนตร์เพื่อการสอนและเพื่อการศึกษาเป็นเรื่องราวสั้น ๆ ต้นทุนการผลิตถูกกว่าขนาดอื่น ๆ
1.4.2 ภาพยนตร์ 16 มม. (16 mm. Film) เป็นภาพยนตร์ที่ใช้มากในวงการศึกษาและนอกจากนี้ยังใช้ในการถ่ายทำข่าวและโฆษณา อีกด้วย
1.4.3 ภาพยนตร์ 35 มม. (35 mm. Film or Standard film) เป็นภาพยนตร์ขนาดมาตรฐาน และมีมาก่อนขนาดอื่น ๆ นิยมใช้ถ่ายทำภาพยนตร์บันเทิงเรื่องยาวแพร่หลายทั่วไปในประเทศและต่างประเทศ
1.4.4 ภาพยนตร์ 70 มม. (70 mm. Film) เป็นภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ไม่ค่อยนิยมสร้างมากนักเพราะต้องลงทุนสูง นาน ๆ จะมีเป็นภาพยนตร์ประเภทบันเทิงสักเรื่องสองเรื่อง เท่านั้น
1.5 แบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้งานของภาพยนตร์
1.5.1 ภาพยนตร์เพื่อการสอน (Instructional films) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอนให้ตรงกับเนื้อหาตามหลักสูตรทุกประเภท เช่น ภาพยนตร์ฝึกการเขียนตัวอักษร เป็นต้น
1.5.2 ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา (Educational films) สร้างขึ้นเพื่อนำมาประกอบหรือเสริมการศึกษาทั่ว ๆ ไป ไม่ระบุเป็นวิชาใดโดยเฉพาะ เช่น ภาพยนตร์สารคดี เป็นต้น
1.5.3 ภาพยนตร์บันเทิง (Entertainment films) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อมุ่งให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงผ่อนคลายความตึงเครียด ปัจจุบันมีหลายรูปแบบหลายแนว มีทั้งให้เนื้อหาสาระ และเพื่อผ่อนคลายอารมณ์เพียงอย่างเดียว
1.5.4 ภาพยนตร์โฆษณา (Advertizing film or Commercial film) มุ่งเพื่อการโฆษณาสินค้าและบริการ

2. ฟิล์มภาพยนตร์ที่ใช้ในการศึกษา
ปัจจุบัน วีดิทัศน์เข้ามามีบทบาทในวงการศึกษาอย่างมาก ทำให้ภาพยนตร์ซบเซา หรือนำมาใช้เพื่อการศึกษาโดยตรงน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ใช้ภาพยนตร์เป็นต้นฉบับ (Original) เพื่อทำสำเนาลงม้วน วีดิทัศน์ นำมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น ฟิล์มภาพยนตร์ที่ใช้ในการศึกษา มี 2 ขนาด คือ
2.1 ขนาด 8 มม. พิเศษ มักเป็นภาพยนตร์ที่บรรจุในตลับสำเร็จ Cartridge ที่เรียกว่า ฟิล์มลูป (Filmloops) ความยาวประมาณ 2-5 นาที ใช้ฉายได้ง่าย สะดวกเนื้อหาเรื่องราวมักเกี่ยวกับการฝึกทักษะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทักษะการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ ทักษะการเขียนหรือประดิษฐ์ตัวอักษร ทักษะการวาดภาพด้วยสีน้ำ เป็นต้น
2.2 ขนาด 16 มม. มักเป็นภาพยนตร์ประเภทสารคดีสั้น ๆ ประมาณ 10-20 นาที มีทั้งภาพยนตร์เสียงในฟิล์มและภาพยนตร์เงียบ

3. ลักษณะรูปแบบของฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม.
มีลักษณะเป็นแถบบาง ๆ ความกว้าง 16 มม. ทำด้วยพลาสติกหรืออาซิเตทใสฉาบน้ำยาไวแสงไว้ด้านหนึ่ง ฟิล์มที่ถูกบันทึกภาพและผ่านกระบวนการล้างแล้ว จะปรากฏเป็นภาพนิ่งที่เรียงลำดับกันตามแนวดิ่ง 1 ภาพ เรียกว่า 1 Frame และยาวติดต่อไปตลอดทั้งม้วน ที่ขอบฟิล์มจะมีรูหนามเตย (Spocket hole) ภาพยนตร์ชนิดไม่มีเสียงจะมีรูหนามเตย 2 ข้าง ชนิดมีเสียงจะมีรูหนามเตยเพียงข้างเดียว ส่วนอีกหนึ่งเป็นเส้นแถบเสียง (Sound Track) แถบเสียงของฟิล์มภาพยนตร์ 16 มม. มี 2 แบบ คือ


ภาพที่ 6.10 ลักษณะรูปแบบของฟิล์ม 16 มม.
ที่มา (Heinich,Molenda,&Russell, 1993, p.189)

3.1 แถบเสียงในระบบแสง (Optical Sound) มีลักษณะเป็นเส้นโปร่งใสหรือ โปร่งแสง ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง หรือขยุกขยิกคดเคี้ยว หนึ่งเส้นบ้าง สองเส้นบ้าง ปรากฏอยู่ที่ขอบของฟิล์มด้านที่ไม่มีรูหนามเตยยาวไปตลอดทั้งม้วน
3.2 แถบเสียงในระบบแม่เหล็ก (Magnetic Sound) มีลักษณะเป็นเส้นทึบ สีน้ำตาลอ่อน ๆ หรือเป็นเส้นของสารแม่เหล็ก เหมือนเทปบันทึกเสียงนั่นเองฉาบติดอยู่ที่ขอบของฟิล์ม ด้านที่ไม่มีรูหนามเตยและยาวไปตลอดทั้งม้วนเช่นเดียวกัน
4. เทคนิคการถ่ายภาพยนตร์ 16 มม. เพื่อการศึกษา
การถ่ายทำภาพยนตร์มีหลักการคล้ายกับการถ่ายภาพนั่นเอง แต่กล้องภาพยนตร์มีระบบทำให้ฟิล์มเคลื่อนที่ด้วยความเร็วตามอัตราที่ต้องการได้ เพื่อบันทึกภาพให้ได้หลาย ๆ ภาพต่อเนื่องกันไป ซึ่งอาจแบ่งวิธีการบันทึกหรือถ่ายทำภาพยนตร์ได้หลายวิธีคือ
4.1 ถ่ายทำแบบปกติ หมายถึง การถ่ายทำเพื่อให้ได้ภาพปรากฏบนจอฉายเป็นไปตามปกติหรือตามธรรมชาติของเรื่องราวนั้น ๆ หรือเป็นไปตามธรรมชาติเหมือนกับที่ตาเรามองเห็นตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง การถ่ายทำถ้าเป็นภาพยนตร์เงียบจะใช้อัตราความเร็ว 16 ภาพต่อวินาที ภาพยนตร์เสียงใช้อัตราความเร็ว 24 ภาพต่อวินาที
4.2 ถ่ายทำแบบช้ากว่าปกติ (Slow motion) หมายถึง การถ่ายทำเพื่อให้ได้ภาพที่ปรากฏบนจอฉายมีอาการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้ากว่าปกติ หรือช้ากว่าธรรมชาติที่เป็นจริง การถ่ายทำจะใช้อัตราความเร็วสูงหรือมากกว่าปกติ กล่าวคือ ถ้าถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เงียบ ใช้อัตราความเร็วสูงกว่า 16 ภาพต่อวินาที ภาพยนตร์เสียงใช้อัตราความเร็วสูงกว่า 24 ภาพต่อวินาที เช่น ใช้ความเร็ว 64 ภาพต่อวินาที เมื่อนำมาฉายด้วยความเร็วปกติ คือ 24 ภาพต่อวินาที ภาพที่ปรากฏบนจอฉายจึงเชื่องช้ากว่าปกติมีประโยชน์สำหรับแสดงสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆ ที่ตาเราไม่สามารถมองได้ทันให้ช้าลงเพื่อศึกษาหรือสังเกตรายละเอียดได้ เช่น ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่ามีผู้วิ่งแข่งขันคนใดวิ่งหรือเข้าเส้นชัยก่อนกัน เป็นต้น
4.3 ถ่ายทำแบบเร็วกว่าปกติ (Fast motion or Time lapse) หมายถึง การถ่ายทำเพื่อให้ได้ภาพที่ปรากฏบนจอฉายมีอาการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าปกติ หรือเร่งรัดขั้นตอนกว่าธรรมชาติที่เป็นจริง การถ่ายทำจะใช้อัตราความเร็วต่ำหรือน้อยกว่าปกติ กล่าวคือ ภาพยนตร์เงียบใช้อัตราความเร็วน้อยกว่า 16 ภาพ ต่อวินาที ภาพยนตร์เสียงใช้อัตราความเร็วน้อยกว่า 24 ภาพ ต่อวินาที เช่น ใช้อัตราความเร็ว 3 ภาพต่อวินาที แต่เมื่อนำมาฉายด้วยความเร็วปกติคือ 24 ภาพต่อวินาที ภาพที่ปรากฏบนจอฉายจึงดูรวดเร็วกว่าปกติ มีประโยชน์เพื่อใช้แสดงสิ่งที่เคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้า ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อศึกษา สังเกตได้ในเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ภาพยนตร์แสดงการงอกของเมล็ดพืช จนกระทั่งเจริญเติบโต เหี่ยวเฉาตายไป ซึ่งเราสามารถศึกษาได้ภายในเวลาเพียง 3-5 นาที เป็นต้น
4.4 ถ่ายทำแบบจินตนาการ (Animation) หมายถึง การถ่ายทำสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีตัวตนหรือสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในสภาพจริง ๆ ให้สามารถเคลื่อนไหวได้ เช่น ภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์โฆษณาบางประเภท ภาพยนตร์แสดงความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น อวัยวะเนื้อเยื่อ การหมุนเวียนของโลหิต การเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ เป็นต้น วิธีการถ่ายทำต้องอาศัยหลักการทางศิลปะเข้าช่วย โดยถ่ายทำจากภาพวาดที่เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่องกันและการถ่ายก็ต้องถ่ายทีละภาพ ๆ อย่างต่อเนื่องกันด้วยความอดทน ก็จะได้ภาพยนตร์แบบจินตนาการที่แปลกออกไปจากภาพยนตร์ธรรมดา

บทสรุป

เครื่องฉายเป็นอุปกรณ์สำหรับฉายภาพหรือวัสดุ ที่มีขนาดเล็กให้ปรากฏบนจอเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้กลุ่มผู้ชมที่มีขนาดต่างๆกัน สามารถมองเห็นภาพนั้นได้อย่างชัดเจนและทั่วถึงกัน หลักการโดยทั่วไปของเครื่องฉาย คือ การทำให้เกิดภาพโดยอาศัยแหล่งกำเนิดแสงหรือหลอดฉาย เพื่อให้แสงสว่างแก่วัสดุที่นำมาฉายและมีเลนส์ฉายเป็นตัวกลางทำให้เกิดภาพไปปรากฏบนจอ เครื่องฉายมีองค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ 2 ประการ คือ ประการแรก ส่วนประกอบภายใน ได้แก่ หลอดฉาย เลนส์ควบแสง เลนส์ฉาย แผ่นสะท้อนแสง และพัดลม เป็นต้น ประการที่สอง ระบบฉาย โดยทั่วไปมี 3 ระบบ คือ ระบบฉายตรง ระบบฉายอ้อม และระบบฉายสะท้อนกลับ ในส่วนของจอหรือฉากรับภาพนั้น จอที่ดีจะได้ภาพที่ชัดเจน จอมีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกัน การเลือกจอแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของการฉายและปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะและขนาดของห้อง ความสะดวกในการติดตั้ง ห้องนั้นๆได้ดัดแปลงหรือปรับปรุงให้แสงสว่างเข้ามากน้อยเพียงใด เป็นต้น
วัสดุฉาย แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ วัสดุโปร่งใส วัสดุโปร่งแสง ซึ่งวัสดุฉายที่สำคัญได้แก่ แผ่นภาพโปร่งใส ฟิล์มภาพยนตร์

คำถามทบทวน

1. สื่อทัศนวัสดุประเภทฉายหมายถึงอะไร
2. ระบบการฉายมีกี่ระบบ อะไรบ้าง
3. วัสดุฉายมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
4. ปากเขียนแผ่นภาพโปร่งใสมีกี่ชนิด อะไรบ้าง
5. จงอธิบายถึงลักษณะของแผ่นภาพโปร่งใสที่ดีมาอย่างน้อย 5 ข้อ
6. ฟิล์มสไลด์เป็นฟิล์มชนิดใด และสไลด์ขนาดมาตรฐานมีขนาดเท่าใด
7. ฟิล์มสตริปแบ่งได้เป็นกี่แบบ อะไรบ้าง
8. ฟิล์มภาพยนตร์แบ่งตามขนาดของฟิล์มได้เป็นกี่ประเภท อะไรบ้าง
9. เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์แบบช้ากว่าปกติ (Slow motion) ใช้วิธีการทำอย่างไร ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร
10. เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์แบบเร็วกว่าปกติ (Foot motion or time lapse) ใช้วิธีการถ่ายอย่างไร ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

ไม่มีความคิดเห็น: